น้ำมูกไหล เป็นหวัด อาจไม่ใช่แค่หวัดธรรมดา หากพบว่ามีอาการเรื้อรัง หรือพบความผิดปกติอื่น นั่นอาจเป็นสัญญาณของการเกิดอาการ ไซนัสอักเสบ ที่ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ไซนัสอักเสบ คือ อาการอักเสบของเยื่อบุจมูก ภายในโพรงจมูก และบริเวณรอบๆจมูก โดยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส
ไซนัสอักเสบ มีอยู่ 2 ชนิด
1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นหวัด มีน้ำมูก หรือมีปัญหาในช่องปาก เช่นฟันผุ หรือมีการถอนฟัน มาก่อนหน้า ซึ่งมีอาการไม่เกิน 1 เดือน และมักจะหายได้เอง
2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรัง ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มากกว่า 1 เดือน ซึ่งในบางราย อาจมีอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้เป็นระยะ
อาการของโรคไซนัสอักเสบ
- มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- มีไข้ ในบางรายอาจมีไข้สูงมาก
- มีน้ำมูกไหล และคัดจมูก
- มีน้ำมูกสีใส สีเขียว หรือสีเหลืองข้น ซึ่งเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ มีหนอง
- มีอาการเจ็บคอ ไอ คอแห้ง
- มีอาการหูอื้อ ปวดหู
- ในบางรายอาจมีอาการปวดบริเวณแก้ม ซอกตา หรือหัวคิ้ว
- มีอาการปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว
- ในบางราย ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- มีอาการแน่น หรือหนักบริเวณใบหน้า
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
- เกิดจากผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน วัณโรค ฯลฯ
- ผู้ที่มีอาการเป็นหวัดเรื้อรัง ไม่รีบรักษา
- ผู้ที่ได้รับสารพิษ ควัน ฝุ่นละออง หรือสารเคมีบางชนิด
- ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ได้รับผลกระทบหรือติดเชื้อ มาจากบริเวณใกล้เคียงอื่น เช่น มีปัญหาในช่องปาก ฯลฯ
- ผู้ที่ชอบว่ายน้ำ ดำน้ำ ที่อาจมีน้ำเข้าจมูกบ่อยครั้ง เป็นประจำ
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ ?

- ดื่มน้ำให้มากเพียงพอ ควรดื่มประมาณ 8 – 10 แก้วต่อวัน
- หลีกเลี่ยงความเย็น เช่น อากาศเย็น น้ำเย็น ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงจากฝุ่นละออง ควัน และสารเคมีต่างๆ ที่ลอยมาในอากาศ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ประคบร้อนบริเวณจมูก หรือบริเวณที่มีอาการปวด
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ( เกลือเฉพาะสำหรับทำความสะอาดจมูก )
- รับประทานอาหารที่สะอาด และมีประโยชน์
วิธีการรักษาไซนัสอักเสบ
- การรักษาโรคไซนัสอักเสบ มีหลายวิธีทางการแพทย์ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจแตกต่างกัน เช่น การใช้ยา การล้างไซนัส หรือการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อันตรายของไซนัสอักเสบ
- อาจมีความเสี่ยง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน บริเวณตา หรือสมองได้ เช่น มองเห็นไม่ชัด ตาบวม เจ็บตา ปวดศีรษะ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไซนัสอักเสบ ไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็มีผลเสียต่อสุขภาพ หากเมื่อใด ที่คุณพบว่าตนเองมีอาการเป็นหวัด หรือมีอาการคล้ายไซนัสอักเสบ ก็ควรรีบไปรักษา กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลโดยเร็ว