ความรู้สำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่พลาดไปเพราะความไม่รู้ หรือละเลย เชื่อมาแบบผิดๆว่า ทาแรกเกิด ต้องให้ดื่มน้ำเปล่า จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นหลายอย่างตามมา ซึ่งอาจเสี่ยงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อันตรายจากน้ำดื่มต่อ ทารกแรกเกิด ?

1. เสียชีวิต
อันตรายที่รุนแรงที่สุด หากทารกได้รับน้ำในปริมาณที่มากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากไตของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถกรองของเหลวได้อย่างรวดเร็ว น้ำจึงไปเจือจางความเข้มข้นของโซเดียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายทารก
สำหรับเด็กที่ดื่มน้ำเข้าไปในปริมาณที่มาก ทำให้ร่างกายปรับสมดุลไม่ได้ ส่งผลให้ระดับเกลือโซเดียมต่ำ ทำให้น้ำไปคั่งในเซลล์ทั่วร่างกาย จนเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด สมองบวม ปวดบวม ชัก และอาจเสียชีวิตได้
2. ขาดสารอาหาร
เนื่องจากพื้นที่ในกระเพาะของทารกมีน้อย จึงทำให้ทารกกินนมได้น้อยลง หากมีการป้อนน้ำเข้าไป จึงส่งผลทำให้ทารกได้รับสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายจากนมไม่เพียงพอ
ทารกควรดื่มน้ำ เมื่อไหร่ ?
สำหรับทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนที่ดื่มนมแม่เป็นประจำ ไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำเพราะในน้ำนมแม่มีปริมาณของน้ำที่เพียงพอต่อทารกอยู่แล้ว ควรให้ดื่มแต่นมเพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก หากต้องการให้ดื่มน้ำ ควรให้หลังจากอายุมากกว่า 6 เดือนไปแล้ว
เพื่อป้องกันการเสียชีวิต และให้ลูกรักได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ คุณแม่ควรป้อนนมให้เพียงอย่างเดียว ไม่ควรให้ดื่มน้ำเปล่า หากลูกน้อยของคุณยังมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน