ตาบอดสี เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในประชากรไทยประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีภาวะการมองเห็นสีบางสีได้ชัดเจน หรือผิดเพี้ยน โดยพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 5 – 8 เปอร์เซ็นต์
ตาบอดสี เกิดจากอะไร ?

1. พันธุกรรม
กลุ่มนี้จะพบได้บ่อยที่สุด หากพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติตาบอดสีจะถ่ายทอดต่อไปยังรุ่นต่อไป โดยการถ่ายทอดผ่านยีนส์ด้อย บนโครโมโซมเพศชนิดเอ็กซ์ ( Chromosome X ) ส่วนใหญ่มีอาการตาทั้ง 2 ข้างมองเห็นสีผิดปกติ คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง พบในเพศชายประมาณ 8% ในเพศหญิงประมาณ 0.4% ทั้งนี้เพราะความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รังแสงสีเขียวหรือแดงซึ่งถูกควบคุมด้วยยีนส์บนโครโมโซม ซึ่งสีที่พบว่าเป็นตาบอดสีมากที่สุด คือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง
2. เกิดขึ้นภายหลัง
กลุ่มนี้พบได้น้อยกว่าพันธุกรรม โดยเกิดจากจอประสาทตาและเส้นประสาทตาถูกทำลาย หรือส่วนของการรับรู้ในสมองผิดปกติ ซึ่งสีที่พบว่าเป็นตาบอดสีมากที่สุด คือ สีน้ำเงิน และสีเหลืองมากกว่า ซึ่งอาจเป็นทั้งสองข้างหรือข้างเดียวก็ได้ โดยมีสาเหตุหลายสาเหตุ เช่น
- การเสื่อมของเซลล์ เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
- การอักเสบ หรือภาวะขาดเลือด
- เกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคต้อหิน โรคต้อกระจก โรคอัลไซเมอร์ และเนื้องอก ฯลฯ
- การเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้บริเวณดวงตาได้รับการบาดเจ็บ
- ผลข้างเคียงจากการยา หรือสารเคมีบางชนิด

วิธีป้องกัน และรักษาตาบอดสี
ตาบอดสีที่เกิดจากพันธุกรรมไม่สามารถป้องกัน หรือรักษาให้หายขาดได้ แพทย์หรือจักษุแพทย์อาจแนะนำให้สวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ที่มีเลนส์กรองแสงบางสีออกไป หรือแนะนำให้จดจำตำแหน่ง หรือป้ายสัญลักษณ์แทนการใช้สีในบางกรณี เช่น ไฟจราจร ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน
แต่สำหรับตาบอดสีนอกเหนือจากพันธุกรรม แพทย์อาจรักษาให้หายขาดได้ โดยรักษาตามสาเหตุหรือโรคที่เกิดขึ้น
แม้ว่าภาวะตาบอดสีอาจไม่ใช่โรคร้ายแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น แต่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ซึ่งหากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที