ความเครียด ภัยเงียบที่หลายคนต้องระวัง โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรต้องระวังอย่างเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบ ต่อทารกในครรภ์ได้ ไม่เพียงเท่านี้ อาจทำให้ทั้งคุณแม่และลูกรัก ได้รับอันตรายร้ายแรง ที่เรื้อรัง ส่งผลไปยังอนาคตได้
ซึ่งปัจจุบันหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรต้องเฝ้าระวัง กับภาวะเครียด ที่กำลังเผชิญอยู่ค่อนข้างสูง จากงานวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก ได้ระบุตรงกันว่า ความเครียดเป็นภัยเงียบ ที่ส่งผลกระทบรุนแรง ในระหว่างการตั้งครรภ์ ที่ส่งผลไปยังเด็กในครรภ์มากกว่าที่คิด
ความเครียด อันตรายต่อเด็กในครรภ์ ?
1. คลอดก่อนกำหนด
มีการวิจัยจากสวีเดน พบว่าคุณแม่ที่อยู่ในภาวะเครียด หรือซึมเศร้า ระหว่างการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูง ในการคลอดก่อนกำหนดมากถึง 30 – 40 %
2. การแท้ง
งานวิจัยของวิทยาลัยทัฟส์ สหรัฐอเมริกา พบว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ที่ประสบกับปัญหาความเครียด มีโอกาสสูง ที่จะแท้งลูก
3. โรคจิต
มีการวิจัยจากอังกฤษ ระบุว่าผู้หญิงที่อยู่ในภาวะเครียดที่รุนแรง ระหว่างการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูง ที่จะทำให้เด็กในครรภ์ คลอดออกมาเป็น โรคจิตเภท เมื่อเติบโตขึ้น มากถึง 67%
4. พัฒนาการ
จากการวิจัยของเดนมาร์กพบว่า คุณแม่ที่มีความเครียด ขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลถึงอารมณ์ และพัฒนาของเด็ก ในช่วงวัยเด็กอย่างมาก
5. การควบคุม
ในประเทศไทย ได้มีการวิจัยจากศูนย์วิจัยประสาท มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าความเครียดของแม่ ส่งผลถึงวงจรของสมองลูกน้อย ในส่วนเกี่ยวกับการควบคุม การใช้เหตุผล และการยับยั้งชั่งใจ
ภาวะเครียดของหญิงตั้งครรภ์
ข้อมูลจากการสุ่มสำรวจ ในหญิงตั้งครรภ์ 200 ราย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเครียดปานกลาง ถึง 54 % และเครียดระดับสูงประมาณ 11 % ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า หญิงที่กำตั้งครรภ์ อยู่ในภาวะความเครียด โดยที่ไม่รู้ตัว
สาเหตุของความเครียด
– การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่มีผลทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย มีอาการหงุดหงิด ใจน้อย รำคาญ อ่อนไหว และซึมเศร้าได้ง่าย
– ความรู้สึกกังวล ในการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ และร่างกาย
– ความไม่พร้อมทางด้านครอบครัว เช่น ปัญหาทางด้านการเงิน
– ความกังวลเรื่องของสามี เช่น กลัวสามีไม่รักเพราะร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง
อาการของภาวะเครียด
– มีอาการซึมเศร้า เก็บตัว อยากอยู่คนเดียว ไม่ต้องการสังคม
– รู้สึกขี้รำคาญ หงุดหงิดง่าย
– มีอาการขี้ใจน้อย อ่อนไหวง่าย
– มีอาการปวดศีรษะบ่อยครั้ง
– มีอาการป่วยบ่อย
– รู้สึกกังวล วิตกจริต
– รู้สึกไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
– รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสุข
อิทธิพลของความเครียด

เมื่อเกิดภาวะเครียด สารเคมีในร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงทันที โดยต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ( Cortisol ) ออกมา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อร่างกายของหญิงตั้งครรภ์อย่างมาก และสารเคมีในร่างกายของแม่ ที่หลั่งเมื่อมีความเครียด จะถูกส่งผ่านไปยังลูก ทางกระแสเลือด ซึ่งส่งผลทำให้ลูก รู้สึกเครียดตามไปด้วย ซึ่งส่งผลเสียหาย ต่อสมองของทารกในครรภ์
ผลกระทบต่อแม่
– ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรง และมีอาการใจสั่น
– น้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลทำให้มือไม้สั่น รู้สึกชา รู้สึกหิว หากมีอาการรุนแรง อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง ตัวจะเย็น รู้สึกอ่อนเพลีย หลงลืมได้ง่าย มีอาการง่วงซึม เกิดอาการชัก และหมดสติ
– ภูมิต้านทานร่างกายลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในขณะตั้งครรภ์ได้ง่าย
– หลอดเลือดตีบ และไม่มีแรง
– เกิดอาการปวดท้องคลอดก่อนกำหนด
– มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ทำให้นอนหลับไม่สนิท
– รู้สึกคลื่นไส้ เบื่ออาหาร
ผลกระทบต่อเด็ก
– มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกเกิด
– เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือแท้งง่าย
– มีความเสี่ยงเป็นออทิสติก หรือมีปัญหาทางด้านภาษา
– มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการที่ล่าช้า
– มีพฤติกรรมที่ควบคุมได้ยาก เลี้ยงยาก ร้องไห้ งอแงง่าย
– มีอารมณ์สียง่ายและบ่อยเมื่อโตขึ้น
– มีความเสี่ยงเป็นโรคจิตเภท เมื่อเติบโตขึ้น
วิธีผ่อนคลายความเครียด
– เพิ่มความบันเทิง โดยการดูหนัง ฟังเพลง
– ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้นิ่ง
– ออกไปพบปะ สังสรรค์ กับเพื่อนเพื่อผ่อนคลาย
– ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การฝึกโยคะ ฯลฯ
– ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกมื้อ
– พักผ่อนให้เพียงพอ
– เปลี่ยนบรรยากาศ โดยการไปออกไปเที่ยวบ้าง อาจเป็นทริปสั้นๆ
– คิดในแง่บวก มองว่าปัญหาเป็นเรื่องเล็กน้อย
– ควรนวดผ่อนคลายเบาๆ
– หากมีเรื่องเครียด ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว ควรพูดคุยกับเพื่อน หรือสามี
เพราะความเครียด คือภัยเงียบของสุขภาพร่างกายและจิตใจ ของมนุษย์เกือบทุกคน รวมไปถึงคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่หลายคน ควรให้ความสนใจ ที่จะขจัดและทำลาย ภัยคุกคามนี้ออกไป เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่มันเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ตัวเราเอง รวมถึงคนรอบข้าง ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะเด็กที่กำลังจะเติบโตขึ้น ที่ได้รับผลกระทบมาโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นเราควรเริ่มได้แล้ว ที่เปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเครียด