แน่นอนว่า การตั้งครรภ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง เพราะระหว่างการตั้งครรภ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางด้านร่างกายและจิตใจย่อมเกิดขึ้น โดยที่อาจคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่คุณแม่ควรต้องทำความเข้าใจ และปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของทารกและตัวของคุณแม่เอง
ระหว่าง การตั้งครรภ์ จะเกิดสิ่งนี้ ?

1. คลื่นไส้อาเจียน
อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ บางรายอาจมีอาการแพ้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก บางรายแพ้มาก บางรายแพ้น้อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวเคมีของร่างกาย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ จึงทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียนบ่อยครั้ง น้ำหนักตัวมักจะลดลงเพราะรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีผลทำให้การสร้างเนื้อเยื่อบกพร่อง ซึ่งอันตรายเพราะสามารถทำให้เกิดการแท้งได้
วิธีแก้ไข
- เลือกกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันต่ำ เช่น ขนมปังปิ้ง แครกเกอร์ เยลลี่ ฯลฯ โดยแนะนำให้กินช่วงเช้าก่อนลุกจากเตียง กินครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารเหลวในช่วงเช้า
- งดอาหารที่มีไขมันสูง และรสจัด
- งดทานผักที่มีกลิ่นแรง
- งดการดื่มกาแฟ
- แต่หากมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะสำหรับผู้ที่ทานอาหารไม่ได้เลย อาจต้องได้รับอาหารทางเส้นเลือดก่อน
2. โรคโลหิตจาง
ในระหว่างการตั้งครรภ์ปริมาตรของเลือดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ฮีโมโกลบินในเลือด และจำนวนเม็ดเลือดแดงจะลดลง หากไม่รีบแก้ไขอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และในหญิงตั้งครรภ์บางรายกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลง ทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดที่เม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปกติ จำนวนเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินลดต่ำ
วิธีแก้ไข
- ควรเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น
- เสริมด้วยกรดโฟลิก
3. อาการท้องผูก
ส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นหนักในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของเด็ก ไปกดอวัยวะทางเดินอาหาร หรือเกิดจากการออกกำลังกายไม่เพียงพอ และเกิดจากกินอาหารที่ไม่มีกากใย
วิธีแก้ไข
- ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และเพียงพอ
- เน้นกินผักและผลไม้ให้มาก
- ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4. ครรภ์เป็นพิษ
ถ้าหากคุณแม่ที่มีน้ำหนักเพิ่มสูงมากระหว่างการตั้งครรภ์ จะส่งผลทำให้เป็นโรคครรภ์เป็นพิษได้ง่าย โดยปกติโรคนี้มักเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 20 เกิดจากตับและไตทำงานผิดปกติ มักมีอาการบวม ความดันสูง ปัสสาวะมีอัลบูมินออกมา หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดอาการชักและหมดสติได้ และอาการดังกล่าวอาจจะรุนแรงขึ้น หากคุณแม่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และโรคไตอยู่ก่อนแล้ว
วิธีแก้ไข
- ควรกินอาหารที่มีโปรตีนให้เพียงพอ ประมาณวันละ 85 – 100 กรัม เพื่อแก้อาการบวม
- ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจให้รับประทานกรดอะมิโน เพื่อช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อ โดยไม่ให้ไปเพิ่มภาระการขับถ่ายให้แก่ไตมาก
5. อาการอื่นๆ
นอกจากอาการดังกล่าวที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการปวดหลัง ร้อนที่อกหรือบริเวณลิ้นปี่ และเป็นตะคริว ฯลฯ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ดังนั้น การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น และจะส่งผลดีต่อมารดาและทารก ที่สำคัญคุณแม่ควรต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ดูแลสุขภาพของฟัน ปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลาย มีความสุข อารมณ์ดี ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง รวมถึงการดูแลความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะเต้านม และการใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากเช่นกัน